วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ผลสำรวจชี้วัยรุ่นเวียดนามใช้เวลาว่างบนโลกอินเทอร์เน็ตมากกว่าโลกภายนอก


แฟ้มภาพเอเอฟพีวันที่ 17 ก.ย. 2556 เด็กวัยรุ่นชาวเวียดนามทดลองใช้งานสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่ร้านคอมพิวเตอร์ในศูนย์การค้าแห่งหนึ่งในกรุงฮานอย ผลการสำรวจเด็กนักเรียนในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ 400 คน พบว่า กลุ่มสำรวจใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับการดูโทรทัศน์และเล่นอินเทอร์เน็ตมากกว่าเล่นกีฬาหรือร่วมกิจกรรมชุมชน และใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเล่นเกมมากกว่าใช้ในการศึกษา รวมทั้งโทรศัพท์มือถือเช่นกัน.-- Agence France-Presse/Hoang Dinh Nam.
        
เตื่อยแจ๋ - วัยรุ่นเวียดนามเผชิญกับความไม่สมดุลอย่างรุนแรงในการใช้เวลาสำหรับการศึกษา พักผ่อน และทำกิจกรรมสันทนาการ ซึ่งจากการสำรวจนักเรียน 400 คน ที่มีอายุระหว่าง 13-19 ปี ในกรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์ พบว่ามี “ช่องว่างขนาดใหญ่” ในชีวิตของวัยรุ่นในเขตชุมชนเมือง และยังตอกย้ำถึงปัญหาที่น่าวิตกเกี่ยวกับแนวคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมของวัยรุ่นกลุ่มนี้
       
       วัยรุ่นในกลุ่มสำรวจใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้องเรียน และให้เวลาเพียงเล็กน้อยต่อการเล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับชุมชน นอกเหนือจากเวลาเรียนแล้ว ร้อยละ 92 ของนักเรียนกลุ่มสำรวจระบุว่า พวกเขาต้องใช้เวลาเรียนพิเศษเพิ่มเติมที่บ้านครูอีก 2-3 วิชา ที่รวมทั้งวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ
       
       การสำรวจที่จัดทำขึ้นโดยบริษัทวิจัย TITA บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยตลาดเวียดนาม ระบุว่า วัยรุ่นในเขตเมืองใช้เวลา 10.5 ชั่วโมงต่อวันไปกับการเรียนที่โรงเรียน ที่บ้าน และแม้แต่ที่บ้านของครูผู้สอน เด็กวัยรุ่นเหล่านี้มีเวลาเพียง 4 ชั่วโมงต่อวันสำหรับความบันเทิง ที่ส่วนใหญ่หมดไปกับการดูโทรทัศน์ เล่นอินเทอร์เน็ต เล่นเกม และแชตผ่านอีเมล หรือเว็บไซต์สังคมออนไลน์
       
       ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน เด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ใช้เวลาส่วนมากอยู่บนเตียง และใช้เวลามากขึ้นกับโทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์เป็น 6 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งพวกเขายอมรับว่า ใช้คอมพิวเตอร์เล่นเกมมากกว่าใช้เพื่อการศึกษาหาความรู้ ส่วนโทรศัพท์มือถือก็ใช้เล่นเกมเช่นกัน
       
       ส่วนกีฬาที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางกายภาพ และจิตใจ กลุ่มสำรวจให้เวลาเพียงเล็กน้อยต่อกิจกรรมเหล่านี้
       
       ร้อยละ 70 ของนักเรียนที่ตอบแบบสำรวจ ระบุว่า พวกเขาไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกีฬาของโรงเรียน และนักเรียนหญิงถึงร้อยละ 80 ระบุว่า ไม่เล่นกีฬาที่โรงเรียน ส่วนในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน มีเพียงร้อยละ 43 ที่ระบุว่าเล่นกีฬา ส่วนในกลุ่มนักเรียนหญิงลดลงเหลือเพียงร้อยละ 29
       
       อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นส่วนใหญ่มีผลการเรียนดีในปีการศึกษา 2556-2557 โดยร้อยละ 85 ของนักเรียนที่ตอบแบบสำรวจมีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ เรียนดี หรือค่อนข้างดี อย่างไรก็ตาม มีข้อเท็จจริงที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้นหากใช้เวลากับการเรียนพิเศษที่บ้านของครูผู้สอนมากขึ้น
       
       ร้อยละ 20 ของนักเรียนในกลุ่มสำรวจมีทัศนคติทางลบต่อครูผู้สอนของตัวเอง โดยกล่าวโทษว่าครูสอนในห้องไม่เต็มที่เท่ากับที่เรียนพิเศษ และร้อยละ 46 ของวัยรุ่นระบุว่า ไม่รู้เส้นทางอาชีพในอนาคต และยังดูเหมือนว่านักเรียนหลายคนคิดว่าการเรียนเป็นหน้าที่มากกว่าความต้องการที่จะมีความรู้
       
       ฟาน กว่าง ตีง หัวหน้าผู้จัดทำการสำรวจยอมรับว่า ผู้ปกครอง และครูควรมุ่งให้ความช่วยเหลือนักเรียน สร้างแนวทางที่ถูกต้องต่อการศึกษา ผู้ปกครอง และครูจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนวัยรุ่นในการค้นหาอาชีพที่พวกเขาให้ความสนใจ. 

ที่มา : http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9570000108036

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น