วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 66 นาทีต่อวัน วัยโจ๋อ่านบนโซเชียลมากกว่า นสพ.

      เผยสถิติคนไทยอ่านเฉลี่ย 66 นาทีต่อวัน โดยเยาวชนใช้เวลาเฉลี่ยมากที่สุด 94 นาทีต่อวัน โดยวัยรุ่นอ่านข้อความในเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม เป็นต้น มากกว่าหนังสือพิมพ์ ส่วนวัยทำงาน อ่านหนังสือพิมพ์มากกว่าโซเชียล สาเหตุที่คนไม่อ่านคือชอบดูทีวี...

      เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ และ สำนักอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park สำรวจการอ่านของประชากรไทย ทุก 2 ปี โดยได้สำรวจปี 2558 ซึ่งเป็นปีแรกที่รวมการอ่านข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ เอสเอ็มเอส และ อีเมล โดยสำรวจประชากรตัวอย่าง 55,920 ครัวเรือน พบว่า การอ่านของเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เมื่อเทียบกับปี 2556 พบว่าเด็กเล็กใช้เวลาอ่านนานขึ้น 7 นาที จาก 27 นาทีในปี 2556 เป็น 34 นาทีในปี 2558 แต่มีความถี่ในการอ่านลดลง เพราะผู้ใหญ่คิดว่าเด็กยังเล็กเกินไป และในปี 2558 พบว่าเด็กหญิงมีอัตราการอ่าน ร้อยละ 60.9 ซึ่งสูงกว่าเด็กชายที่อ่านร้อยละ 59.5



นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park เผยผลสำรรวจการอ่านของคนไทยประจำปี 2558

นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า ส่วนประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป พบว่าอัตราการอ่านลดลงจากร้อยละ 81.8 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 77.7 ในปี 2558 หรือลดลงร้อยละ 4.1 โดยลดลงทุกกลุ่มอายุ เนื่องจากปี 2556 กรุงเทพมหานครได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก ทำให้ทุกภาคส่วนส่งเสริมการอ่านอย่างจริงจัง ทำให้อัตราการอ่านของประชากรปี 2556 สูงมากกว่าปกติ สำหรับประเภทของหนังสือที่อ่าน พบว่า อ่านหนังสือพิมพ์สูงสุด คือ ร้อยละ 67.3 รองลงมา คือ อ่านข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ ร้อยละ 51.6 ส่วนประเภทของสื่อที่ทุกกลุ่มอายุนิยมอ่านมากที่สุด คือ รูปเล่มหนังสือหรือเอกสาร ร้อยละ 96.1 รองลงมา คือ สื่อสังคมออนไลน์ ร้อยละ 45.5 เว็บไซต์ ร้อยละ 17.5 ซึ่งเนื้อหาที่ผู้อ่านชอบอ่านมากที่สุด คือ ข่าว สารคดี และความรู้ทั่วไป ร้อยละ 48.5



ภาพรวมของสถิติการอ่านของเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี

นายจรัญ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม คนที่มีวัยต่างกัน จะมีความสนใจเลือกประเภทหนังสือที่อ่านแตกต่างกัน โดยวัยเด็กอ่านแบบเรียน/ตำราตามหลักสูตร สูงสุดร้อยละ 96.6 รองลงมาคือ นวนิยาย/การ์ตูน/หนังสืออ่านเล่น ร้อยละ 66.2 วัยเยาวชน อ่านข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม เป็นต้น สูงสุดร้อยละ 83.3 รองลงมาคือ หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 68.7 สำหรับวัยทำงาน อ่านหนังสือพิมพ์ ร้อยละ 79.9 รองลงมาคือข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ ร้อยละ 54.6 วัยสูงอายุ อ่านหนังสือ เอกสารที่เกี่ยวกับศาสนา ร้อยละ 76.2 รองลงมาคือ หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 59.8



สถิติการอ่านของคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป

นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กล่าวด้วยว่า ส่วนเวลาเฉลี่ยที่ใช้อ่าน ในปี 2558 คิดเป็น 1 ชั่วโมง 6 นาที หรือ 66 นาทีต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่อ่านเฉลี่ย 37 นาทีต่อวัน โดยกลุ่มเยาวชนใช้เวลาอ่านมากที่สุด เฉลี่ย 1 ชั่วโมง 34 นาที หรือ 94 นาทีต่อวัน สาเหตุที่เพิ่มเพราะปี 2558 ได้เพิ่มการอ่านข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ และจากการสำรวจพบผู้ไม่อ่านมีร้อยละ 22.3 โดยมีสาเหตุคือ ชอบดูโทรทัศน์มากที่สุด ร้อยละ 41.9 รองลงมาคือ ไม่มีเวลาอ่าน ร้อยละ 24.6 ไม่ชอบอ่าน ร้อยละ 24.8 อ่านหนังสือไม่ออก ร้อยละ 20.6 ตามลำดับ



สถิติการอ่านของวัยรุ่นไทยอายุ 15-24 ปี

สำหรับวิธีรณรงค์ให้คนรักการอ่านที่ดีที่สุดคือ ปลูกฝังให้รักการอ่านผ่านพ่อแม่ และครอบครัว รองลงมาคือ สถานศึกษารณรงค์ส่งเสริมการอ่าน รูปเล่มและเนื้อหาน่าสนใจ ส่งเสริมให้มีห้องสมุดเคลื่อนที่ และมีมุมอ่านหนังสือในชุมชน เป็นต้น.

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/598816

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น